วันอาทิตย์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2550

ที่มาของเพลง ดอกประดู่

เพลง ดอกประดู่ หรือที่นิยมเรียกกันอีกอย่างว่าเพลง "หะเบสสมอพลัน" เป็นบทเพลงพระนิพนธ์ใน พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เดิมเรียกชื่อว่า "Coming Thro' the Rye" ตามชื่อทำนองเพลงเดิมในภาษาอังกฤษ (เพลงนี้เป็นเพลงสก็อต เข้าใจกันว่าดัดแปลงทำนองมาจากเพลง Auld Lang Syne อีกทีหนึ่ง)แรงบันดาลใจสำคัญในการทรงนิพนธ์เพลงนี้คือเหตุการณ์วิกฤตการณ์ปากน้ำ ร.ศ.112 (พ.ศ. 2436) ซึ่งเป็นที่จดจำกันได้ดีทุกคนสำหรับคนไทยในยุคนั้น สันนิษฐานว่าทรงนิพนธ์เพลงดอกประดู่เมื่อ พ.ศ. 2448

เพลงนี้เป็นที่มาของการเปรียบเทียบตนเองของเหล่าทหารเรือว่า "เป็นลูกประดู่" มาจนถึงทุกวันนี้


เนื้อร้อง
หะเบสสมอ[1]พลัน ออกสันดอนไป
ลัดไปเกาะสีชัง จนกระทั่งกระโจมไฟ
เที่ยวหาข้าศึก มิได้นึกจะกลับมาใน
ถึงตายตายไป ตายให้แก่ชาติเรา

พวกเราจงดู รู้เจ็บแล้วต้องจำ
ลับดาบไว้พลาง ช้างบนยอดกาฟฟ์[2]จะนำ
สยามเป็นชาติของเรา ธงยอดเสาชักขึ้นทุกลำ
ถึงเรือจะจมในน้ำ ธงไม่ต่ำลงมา

เกิดมาเป็นไทย ใจร่วมกันแหละดี
รักเหมือนพี่เหมือนน้อง ช่วยกันป้องปฐพี
สยามเป็นชาติของเรา อย่าให้เขามาย่ำมายี
ถึงตายตายดี ตายในหน้าที่ของเรา

พวกเราทุกลำ จำเช่นดอกประดู่
วันไหนวันดี บานคลี่พร้อมอยู่
วันไหนร่วงโรย ดอกโปรยตกพรู
ทหารเรือ เราจงดู ตายเป็นหมู่เพื่อชาติไทย

อธิบายศัพท์ในเพลง
1. หะเบสสมอ เป็นคำภาษาจาม แปลว่า ถอนสมอเรือ ในศัพท์ทหารเรือไทยนั้นมีคำในภาษาจามและและมลายูปนอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องจากสมัยโบราณนั้นทหารเรือมักจะเป็นชาวจามในสังกัดกรมอาสาจาม เพราะชาวจามมีความเชี่ยวชาญในการเดินเรือทะเลมาก
2. กาฟฟ์ (Gaff) คือ เสาเชิญธงชาติสำหรับกองทัพเรือ (ธงราชนาวี) ซึ่งอยู่ที่ท้ายเรือ ช้างบนยอดกาฟฟ์หมายถึง รูปช้างเผือกในธงราชนาวีไทย ซึ่งไม่ว่าจะมีวิวัฒนาการอย่างไรก็ตามก็จะมีรูปดังกล่าวอยู่ด้วยเสมอ





ไม่มีความคิดเห็น: