วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

สถานนีรถไฟหัวลำโพง



ถึงวันที่ต้องเดินทางกลับไปทำงานอีกแล้ว หลังจากที่ผมเริ่มเข้าทำงานภาคราชการ ก็ได้มาบรรจุที่แรก ที่จังหวัด สุราษฎร์ธานี มาอยู่ไกลก็คิดถึงบ้านเป็นธรรมดา ถึงวันหยุดลองวีคเอ็นเมื่อไหร่ เป็นอันต้องกลับบ้านทุกครั้งไป ไม่เดินทางโดยรถทัวร์ รถไฟ หรือไม่ก็เครื่องบิน แล้วแต่จังหวะ โอกาส ในการกลับไปทำงานอีกครั้ง ผมเลือกที่จะกลับไปโดยรถไฟครับ ในเมื่อมีโอกาสมาทำงานไกลบ้าน มีโอกาสมาหาประสบการณ์ชีวิตต่างที่ เลยถือโอกาสเอาให้ครบทุกอย่าง อันไหนที่เรายังไม่เคยทำ ยังไม่เคยลอง ในชีวิตครั้งหนึ่ง ทำซะ
สายๆของวันอาทิตย์ ผมก็เริ่มเก็บเสื้อผ้า สิ่งของจำเป็น เตรียมตัวเดินทางกลับไปยังสุราษฎร์ธานี เริ่มจากโดยรถตู้จากอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ไปจนสุดสายที่บริเวณสี่แยกบางนา จากนั้นก็นั่งรถเมล์จากสี่แยกบางนาไปลงยังบริเวณหน้าห้างโลตัสสาขาอ่อนนุช เพื่อขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส แล้วไปมุดลงดินด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน เอ็มอาร์ที ที่สถานีสุขุมวิทย์(จุดเดียวกันถ้าเป็นสถานีรถไฟใต้ดินหรือเอ็มอาร์ทีจะเรียกว่าสถานีสุขุมวิทย์แต่ถ้าเป็นรถไฟบีทีเอสจะเรียกว่าสถานีอโศกครับ) สุดท้ายก็ไปโผล่ยังที่หมายคือสถานนีรถไฟหัวลำโพง ในปัจจุบันรถไฟฟ้าบีทีเอสเพิ่มส่วนต่อขยายไปยังสถานีแบริ่ง การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะยิ่งมีความสะดวกมากขึ้นกว่าในอดีตมากครับ หลังจากมาถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง ผมจึงเดินตรงไปเพื่อซื้อตั๋วไว้เป็นอันดับแรก ตรวจสอบเที่ยวรถไฟที่จะออกเดินทางไปสายใต้ในวันนั้น กะเวลาขบวนรถไฟไปถึงประมาณตี 5 ของอีกวันนึง เผื่อเวลาเดินทางกลับที่พัก อาบน้ำแต่งตัว แล้วไปทำงานต่อ แต่เอาเข้าจริงรถไฟแบบนอน ปรับอากาศมีอยู่ไม่กี่เที่ยวครับที่มันตรงตามแบบที่ผมได้วางโปรแกรมเอาไว้ สุดท้ายได้ตัวมาเป็นรถไฟขบวนกรุงเทพฯ – นครศรีธรรมราช แบบด่วน รถไฟออกเวลาประมาณ 17.15 น. ไปถึงสุราษฎร์ธานีก็ประมาณตีสองของอีกวันนึง โปรแกรมที่วางไว้ก็เลยต้องเปลี่ยนแปลงนิดหน่อยครับ แต่ถือว่าดีที่ไปถึงเร็วกว่าปกติ จะได้มีเวลาพักผ่อนอีกซักระยะ เก็บแรงก่อนที่จะเริ่มงานในวันถัดไป
ในช่วงที่ผมไปถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง เวลาขณะนั้นประมาณบ่าย 3 โมง กว่ารถออกอีกตั้ง 2 ชั่วโมง เป็นธรรมดาของการเดินทางโดยรถไฟครับ ที่ต้องนั่งรอกว่าขบวนรถไฟจะออก จะถือโอกาสแว๊บไปเที่ยวสถานที่ใกล้เคียง สัมภาระค่อนข้างเยอะ เดินทางไปไม่สะดวกแน่ ก็เลยตัดสินใจขึ้นไปชั้นสองของอาคารพักผู้โดยสาร ซื้อกาแฟแบคแคลยอนมานั่งดื่มซัก 1 แก้ว หนังสือพิมพ์ไทยรัฐยอดนิยมซัก 1 ฉบับ นั่งอ่านเพื่อฆ่าเวลา จะได้ไม่หงุดหงิดระหว่างนั่งรอขบวนรถไฟ ในช่วงนี้แหละครับผมได้มีโอกาสสัมผัสกับสถานที่แห่งนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องเดินทางไปมาโดยรถไฟ มองบรรยากาศรอบๆ มองผู้คนที่ขวักไขว่กับการเดินทาง ที่ชั้นล่างของอาคารพักผู้โดยสาร บางคนนั่งบนเก้าอี้หรือพนักพิง บางคนนั่งกับพื้น บางคนนำกระเป๋าเดินทางเป็นที่หนุนนอนระหว่างรอเรียกขึ้นขบวนรถไฟ เป็นอะไรที่หลากหลายดีจริงๆ และในโอกาสนี้ผมจะได้นำบรรยากาศและความรู้ของสถานที่แห่งนี้มาฝากทุกคน
การเดินทางโดยรถไฟเป็นการเดินทางที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการเดินทางในแบบอื่นๆ และเป็นที่นิยมของผู้คนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง และถือว่าเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด ทำให้วันวันนึง ที่แห่งนี้จะมีผู้คนมากหน้าหลายตามาใช้บริการกันอย่างไม่ขาดสาย ผมได้มีโอกาสเดินสำรวจรอบๆสถานีรถไฟหัวลำโพง ทั้งทางด้านหน้าที่รูปลักษณ์สวยงามตามสไตน์สถาปัตยกรรมของอิตาเลียนกับศิลปะแบบเรอเนสซองซ์ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟฟรังค์ฟูร์ทในประเทศเยอรมนี การประดับหลัก ประดับด้วยหินอ่อนและเพดานมีการสลักลายนูนต่าง ๆ โดยมีนาฬิกาขนาดใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 160 เซนติเมตร ตั้งอยู่กลางสถานีรถไฟ สถานีแห่งนี้นิยมเรียกกันว่า สถานนีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งถือเป็นสถานีรถไฟหลักและเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย โดยถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี พ.ศ.2453 สร้างเสร็จและเริ่มใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2549 ปัจจุบันสถานีรถไฟหัวลำโพง มีการเชื่อมต่อการเดินทางที่ค่อนข้างครบวงจร สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้าแบบ sky train สามารถเดินทางไปได้ทั่วทั้งกรุงเทพมหานครเลยทีเดียว
เมื่อหันกลับมาดูภายในอาคารจะพบว่าสถานีรถไฟแห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ประกอบด้วยอาคารมุขหน้า มีลักษณะเหมือนระเบียงยาว มีทั้งหมด 2 ชั้น ตรงกลางของอาคารมุขหน้าจะมีที่นั่งไว้รองรับผู้โดยสาร ด้านข้างปัจจุบันมีร้านค้าแบบสะดวกซื้อและร้านที่ให้บริการสำหรับการเดินทางอาทิเช่น ร้านเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ ร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ธนาคารที่สำคัญ ร้านขายขนมหลากหลายชนิด สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารที่รอเดินทางได้เป็นอย่างดี ชั้นสองของอาคารจะเป็นร้านอาหารและร้านเครื่องดื่มที่ขึ้นชื่อ เป็นที่ตั้งของบริษัทนำเที่ยวชั้นนำสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ร้านเกมส์และอินเตอร์เน็ต บริษัทรับจองโรงแรมและจำหน่ายตั๋วเครื่องบินไว้ให้บริการ สำหรับด้านในสุดของตัวอาคารเป็นห้องสำหรับจำหน่ายตั๋วประมาณ 10 – 20 ห้องด้วยกัน ทุกคนสามารถตรวจสอบตารางเวลาเข้า-ออกของรถไฟแต่ละขบวนได้ที่บอร์ดระบบดิจิตอลทางด้านข้างของห้องจำหน่ายตั๋ว สำหรับส่วนที่สองเป็นอาคารโถงสถานี หลังคาโค้งขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมแบบคลาสสิค (Classicism) คือ เป็นงานเลียนแบบสถาปัตยกรรมโบราณของกรีก – โรมัน สำหรับจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของที่นี่ก็คือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาซึ่งติดตั้งไว้กลางส่วนโค้งของอาคารด้านในและด้านนอก โดยเป็นนาฬิกาที่สั่งทำขึ้นพิเศษเป็นการเฉพาะ ไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตเหมือนนาฬิกาทั่วๆ ไป สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยสำหรับสถานีรถไฟแห่งนี้ก็คือ บริเวณเหนือห้องประชาสัมพันธ์ จะมีจอภาพขนาด 300 นิ้ว ควบคุมด้วยระบบ DOLBY DIGITAL ไว้สำหรับการประชาสัมพันธ์ ฉายเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟ เชื่อมสัญญาณกับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆของไทย รวมทั้งสร้างบรรยากาศผ่อนคลายให้กับผู้โดยสารที่รอนั่นก็คือ การเปิดมิวสิควีดีโอ ให้ได้รับชมและรับฟัง
ถือว่าในช่วงเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ผมได้เรียนรู้อะไรได้มากมายเกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ เป็นประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่งที่ถือว่าคุ้มค่านะครับ จากนั้นเวลาประมาณ 17.15 น. ได้เวลาในการเดินทางแล้ว ผมจึงขออนุญาตเดินไปขึ้นขบวนรถไฟที่ ณ ตอนนี้ ได้มาจอดเทียบชานชลาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไว้จะนำบรรยากาศระหว่างการเดินทางโดยรถไฟมาฝากในโอกาสหน้าครับ ไปละครับ ........

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร


หลังจากเสร็จภาระกิจการการทำงานในช่วงเช้า ยังคงมีเวลาเหลืออยู่ ก็เลยชักชวนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ออกตะเวน หาที่กิน ที่เที่ยวกัน  เวลาซักประมาณ 10 โมงเช้า ทุกคนได้ต่างลงความเห็นกันว่าจะไปไหว้พระที่วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร อันเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองเก่าแก่ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ไหนๆมาถึงที่แล้ว เลยชวนกันไปทำบุญ ไหว้พระ สักการะสิ่งศักด์สิทธิ์ เสริมศิริมงคลให้กับชีวิต ขณะรถเคลื่อนผ่านเข้ามายังวัด ผมได้หันไปมองพระมหาธาตุเจดีย์ ที่สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางวัด ทำให้ผมรู้สึกได้เลยว่า เป็นวัดที่สวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมทางภาคใต้จริงๆครับ ซึ่งปกติแล้วผมมักจะไปเที่ยวและทำบุญตามวัดแถบภาคกลางซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตัวผมเอง และด้วยความที่ไม่เคยมาวัดนี้มาก่อน เมื่อได้มา ก็รู้สึกทึ่งและรู้สึกตื่นเต้นในการมาวัดแห่งนี้  เริ่มต้น ผมและคนอื่นๆที่มาด้วยกัน เดินมุ่งตรงไปรับดอกไม้ ธูปเทียน ที่ซุ้มด้านหน้าวัดติดกับพระอุโบสถ จากนั้นก็ร่วมทำบุญช่วยค่าดอกไม้ ธูปเทียน ตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน และก็พากันเดินกันเข้าไปในเขตพระบรมธาตุเจดีย์ ได้พบเห็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำจำนวนมากมายล้อมรอบพระมหาธาตุเจดีย์ ซึ่งจากที่ได้ค้นหาข้อมูลพบว่ามีจำนวนเจดีย์ทั้งหมด 158 องค์ และพระบรมธาตุเจดีมีความสูงจากฐานถึงยอด 37 วา 2 ศอก ยอดสุดของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา 1 ศอก แผ่เป็นแผ่นหนาเท่าใบลานหุ้มไว้ น้ำหนัก 800 ชั่งหรือ 960 กิโลกรัม
                เมื่อเดินเข้าไปจะรู้สึกทึ่งกับสิ่งที่พบเห็นไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ พระบรมธาตุเจดีย์ ในบริเวณเจดีย์จะมีจุดไว้สำหรับทำการกราบไหว้พระบรมธาตุเจดีย์ หรือเจดีย์ ซึ่งมีความสวมงามมาก เดินเข้าไปอีกไม่ถึง 10 เมตรก็จะพบกับวิหารหลวงซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ภายในประดิษสถานพระพุทธรูปโดยรอบ วิหารที่สำคัญอื่นๆมีดังนี้
วิหารสามจอมมีพระพุทธรูป "พระจ้าศรีธรรมโศกราช" ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์
วิหารพระมหาภิเนษกรม (พระทรงม้า) ทางขึ้นไปบนลานประทักษิณ
วิหารทับเกษตร
วิหารเขียน
วิหารโพธิ์ลังกาซึ่งเป็นที่จัดและแสดงโบราณวัตถุ
ข้อมูลทั่วไปของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นดังนี้ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน ตำบลในเมืองมีเนื้อที่ 25 ไร่ 2 งาน วัดพระมหาธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชั้นวรมหาวิหาร เดิมชื่อ วัดพระบรมธาตุ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศจดทะเบียนวัดพระมหาธาตุเป็นโบราณสถาน นับเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ ตามตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.854 ซึ่งมีอายุมากกว่า 1,500 ปี มีศิลปะการก่อสร้างแบบศรีวิชัย โดยเจ้าชายธนกุมารและพระนางเหมชาลาและบาคู (นักบวช) ชาวลังกา เป็นผู้นำเสด็จพระบรมธาตุมาประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้วและสร้างเจดีย์องค์เล็ก ๆ เพื่อเป็นที่หมายไว้ ในปี พ.ศ. 1093 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าจันทรภาณุ) ได้ทำการสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น พร้อมทั้งก่อสร้างเจดีย์ขึ้นใหม่เป็นทรงศาญจิ และในปี พ.ศ. 1770 พระองค์จึงได้รับเอาพระภิกษุจากลังกามาตั้งคณะสงฆ์และบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมทรงลังกา อันเป็นแบบที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันคือ เป็นทรงระฆังคว่ำหรือโอคว่ำ นั่นเอง
หลังจากได้เดินชมความงาม ความศักดิ์สิทธิ์ของวิหารหลวงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับบุคคลทั่วไปหรือนักท่องเที่ยวที่มากราบไหว้ บูชา พระพุทธรูปหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแห่งนี้ก็คือ การเข้าไปในวิหารทรงม้า อันเป็นที่ประดิษสถานองค์จตุคาม และองค์รามเทพ ซึ่งมีตำนานเล่าขานกันมาช้านานและเป็นที่มาของวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอันมาก เมื่อประมาณปี พ.ศ.2550 เรียกความศรัทธาให้กับพุทธศานิกชนทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก ภายในพระวิหารทรงม้า ผมเชื่อได้เลยว่า ผู้ที่ได้มีโอกาสเข้ามาจะรู้สึกประทับใจในความตระการตากับสถาปัตยกรรมภายของพระวิหารแห่งนี้ ซึ่งมีความสวยงามและมีคุณค่าทางจิตใจเป็นอย่างยิ่ง (เกินคำบรรยายจริงๆ ดูภาพประกอบเอาเองนะครับ) เมื่อยืนหันหน้าไปทางองค์ท้าวจตุคามและองค์ท้าวรามเทพจะพบว่ามีบันไดทางขึ้นตรงกลางกั้นระหว่างองค์ทั้งสอง ปลายสุดของบันไดทางขึ้นจะเป็นที่ประดิษสถานขององค์ท้าวจตุคามและองค์ท้าวรามเทพ โดยที่องค์ท้าวจตุคามจะถูกประดิษสถานทางด้านซ้ายมือ และองค์ท้าวรามเทพจะถูกประดิษสถานทางด้านขวามือของบันไดทางขึ้น ที่ปลายสุดของบันไดจะเป็นทางออกไปสู่ลานประทักษิณ ลักษณะโดยทั่วไปมีความคล้ายคลึงกับลานเจดีย์ ณ วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ผมเคยไปมา จะต่างกันที่สถาปัตยกรรมของทั้งสองวัด ที่ได้รับอิทธิพลจากสังคม วัฒนธรรมที่ต่างกันนั่นเอง
ก่อนเดินทางกลับ ผมก็ถือโอกาสเช่าวัตถุมงคล เป็นเหรียญบูชาองค์ท้าวจตุคามและท้าวรามเทพ รุ่น คู่บุญ คู่บารมี จำนวน 1 เหรียญ กลับไปบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท


พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีพระที่นั่งพิมานรัตยา พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา และ เรือนบริวาร หรือ เรือนจันทร์ต่อเนื่องทางด้านหลังในเขตพระราชฐานชั้นใน พระที่นั่งองค์นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นสถานปัตยกรรมชั้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระที่นั่งทรงไทยแท้องค์เดียว ในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะเรือนยอดพระมหาปราสาท (กุฎาคาร) มีรูปทรงต้องด้วยศิลปะลักษณะอันวิจิตรงดงาม

ประวัติ
เมื่อปี พ.ศ.2332 พระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้น บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ซึ่งถูกฟ้าผ่าไหม้จนหมด จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมหาปราสาทขึ้นใหม่บนพื้นที่เดิม นามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ธรรมเนียม
เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จออกว่าราชการที่ท้องพระโรง นอกจากนั้นสถานที่นี้ยังเป้นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงด้วย อย่างเช่น เมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาตั้งไว้ที่พระที่นั่งองค์นี้ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่จะต้องประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้า และสมเด็จพระอัครมเหสีไว้บนพระที่นั่งองค์นี้
ในรัชกาลปัจจุบัน ได้ประดิษฐานพระบรมศพพระบามสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
พระที่นั่งองค์นี้ไม่ได้เป็นเพียงที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพเท่านั้น ยังเป็นสถานที่เพื่อทำพระราชพิธีสำคัญด้วย อย่างเช่น เมื่อปี 2454 ในรัชกาลสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในปัจจุบันพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี และ พระราชกุศลต่างๆ เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล (พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า) ในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี

ที่มา : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี