วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2550

ติดกิจกรรม จนรีไทร์ ชีวิตจริงในรั้วมหา "ลัย



"ผมคิดว่าตัวเองเรียนเก่ง เอ็นทรานซ์ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยชื่อดัง อย่างธรรมศาสตร์ คงเรียนเล่นๆ สนุกๆ เหมือตอนเรียนอยู่มัธยมก็ได้ เดี๋ยวก็สอบผ่าน อีกอย่างความรู้สึกตอนที่เอ็นทรานซ์ติดแล้วมันเหมือนได้ปลดปล่อย พอมาเจอกิจกรรมสนุกในมหาวิทยาลัย รับน้องใหม่ กีฬาคณะ ค่ายอาสาพัฒนา และอีกหลายกิจกรรมทำให้ผมรู้สึกสนุกจนไม่อยากเรียน สุดท้ายก็เรียนไม่จบถูกรีไทร์" คำบอกเล่าของ "นิ่ม" หนุ่มวัยเบญจเพสที่หลงใหลกับการใช้ชีวิตสนุกทำกิจกรรม จนอนาคตเกือบจะดับวูบ
ณ วันนี้ อนาคตของนิ่มกลับมาสดใสอีกครั้งกับชีวิตของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงแม้ต้องเสียเวลาไปเกือบ 5 ปี กับการเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องมานั่งเรียนกับรุ่นน้อง แต่นิ่มก็รู้สึกดีที่กลับตัวกลับใจได้ และพร้อมย้อนรอยประสบการณ์ชีวิตที่อยู่ในวังวนของการติดกิจกรรม ผ่านวงเสวนา "เยาวชนกับวังวนในหลุมดำ" (Youth Addict) ที่จัดโดยโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นแง่คิดและอุทาหรณ์ให้กับน้องๆ เฟรชชี่ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่รั้วมหาวิทยาลัย
นิ่มย้อนรอยชีวิตการทำกิจกรรมว่า เอ็นทรานซ์ติดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.2544 ความรู้สึกที่เอ็นทรานซ์ติดคิดว่าตัวเองเก่ง คิดว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยคงเหมือนกับตอนเรียนมัธยมฯ และส่วนตัวก็เป็นคนชอบทำกิจกรรมด้วย จึงเริ่มทำกิจกรรมตั้งแต่กิจกรรมรับน้อง ร้องเพลงเชียร์ของคณะจะเข้าร่วมทุกครั้งไม่เคยขาด เสร็จจากรับน้องก็เข้าร่วมแข่งกีฬาของคณะ ต้องซ้อมกีฬาทุกวัน ตื่นเช้าตั้งแต่ตีห้าครึ่ง ซ้อมเสร็จตอนแปดโมงเช้า ก็นอนพักผ่อนตื่นอีกครั้งก็ตอนบ่ายสามโมง เสร็จจากแข่งกีฬาก็ไปทำกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาต่อ เข้าเรียนนับครั้งได้ จำหน้าอาจารย์ที่สอนแต่ละวิชาไม่ได้สักคนและไม่ตามเล็คเชอร์จากเพื่อนๆ ด้วย
"ที่ชอบทำกิจกรรมมากนั้น เพราะเข้าใจว่าทำกิจกรรมแล้วจะทำให้มีชื่อเสียง มีคนรู้จักมากขึ้น รู้สึกภูมิใจเวลาคนเข้ามาทักทาย และเข้าใจว่าคงไม่กระทบต่อเรื่องการเรียน เพราะเชื่อมั่นว่าตัวเองเป็นคนเรียนเก่ง จึงคิดว่าน่าจะเอาตัวรอดเรื่องเรียนได้ แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะช่วงใกล้สอบก็มาอ่านหนังสือก่อนสอบหนึ่งวัน ทำให้อ่านหนังสือไม่ทัน เทอมแรกเกรดเฉลี่ยจึงออกมาที่ 1.3 ติด F เป็นครั้งแรกตั้งแต่เรียนมา และถูกเตือนครั้งที่หนึ่ง (Warning) ในใบเกรด แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไรเทอมหน้าค่อยแก้ตัวใหม่ ยังทำกิจกรรมเหมือนเดิม เกรดก็ไม่ดีขึ้นใบเกรดจึงติด "โปร" (Propation) ครั้งที่ 1 จึงเริ่มคิดได้ ทำกิจกรรมให้น้อยลง พยายามลงวิชาเลือกเพื่อจะช่วยให้เกรดดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะวิชาเรียนก็ยากมากขึ้น พอขึ้นชั้นปีที่ 4 จึงติด "โปร" เป็นครั้งที่ 2 และถูกรีไทร์ในที่สุด" นิ่มบอกด้วยน้ำเสียงเศร้า
นิ่มบอกด้วยว่า พอรู้ว่าต้องถูกรีไทร์และอาจารย์เรียกผู้ปกครองมาพบ รู้สึกกลัวและเครียดมากๆ ไม่รู้ว่าจะบอกอย่างไร กลัวพ่อแม่เสียใจ เพราะพ่อแม่ก็แยกทางกัน แต่ได้หาทางออกเอาไว้แล้ว คือไปสมัครสอบคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคพิเศษได้แล้ว พอบอกความจริงกับพ่อแม่ ท่านกลับไม่ต่อว่าเลย บอกแต่ว่า ไม่เป็นไรตั้งใจเรียนใหม่แล้วกัน ได้ฟังแล้วจึงคิดว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต จึงตั้งเป้าและปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ ตั้งใจเรียนมากขึ้นและทำกิจกรรมน้อยลง จะคอยเตือนน้องๆในคณะที่ติดกิจกรรม ซึ่งจะสอนจากประสบการณ์ของตัวเอง ไม่อยากให้น้องๆ ต้องติดกิจกรรมจนเสียการเรียนเหมือนตัวเอง รวมทั้งจะเป็นติวเตอร์คอยช่วยติวให้กับน้องๆ ก่อนสอบทุกครั้ง จะใช้ความคาดหวังของน้องๆ มากดดันตัวเองให้ตั้งใจเรียนจบ เพื่อเอาใบปริญญาไปให้พ่อแม่ให้ได้
"อยากฝากถึงน้องที่กำลังเข้าสู่ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย ต้องรู้จักแยกแยะแบ่งเวลาเรียนกับกิจกรรมให้ดี เพราะการเรียนในมหาวิทยาลัยจะต่างกับสมัยมัธยมฯ อย่าคิดว่าอ่านหนังสือก่อนสอบเพียง 1-2 วัน แล้วจะสอบได้ ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ อยากให้น้องๆ ตั้งใจเรียนในห้องให้เข้าใจ และควรคบเพื่อนที่ตั้งใจเรียน ช่วยกันติวหนังสือ เวลามีปัญหาก็ปรึกษากับอาจารย์หรือพ่อแม่ ที่สำคัญต้องชนะใจตัวเองให้ได้ เพราะชนะใจตัวเองได้ก็จะชนะปัญหาทุกอย่างได้"
การทำกิจกรรมในระหว่างชีวิตวัยเรียน เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมทักษะด้านต่างๆ ที่นอกเหนือจากในตำราเรียน แต่การทุ่มเทมากเกินไปอาจทำให้การทำกิจกรรมส่งผลลบต่อชีวิตของนักศึกษา
ข้อมูลและภาพประกอบจาก มติชน




ไม่มีความคิดเห็น: